ครั้งแรกของไทย! “คณะแพทยศาสตร์ มศว” จับมือ “วิโนน่า” เปิดตัวโครงการวิจัยทดสอบโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย มุ่งแก้ปัญหาสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูอย่างยั่งยืน

 

คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับพันธมิตรหลัก บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย ตอกย้ำการเป็นผู้บุกเบิกและค้นคว้าวิจัย “จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย” อย่างต่อเนื่อง เดินหน้าเปิดตัวโครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้สตรีกลุ่มเป้าหมายวัยหมดระดูร่วมโครงการวิจัย ชี้สถิติปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของสตรีวัยหมดระดูในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูอย่างยั่งยืน

โดยจัดงานแถลงความร่วมมือพร้อมเปิด “โครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ผสมฮอร์โมนจากพืช” อย่างเป็นทางการ พร้อมจัดเสวนาความรู้ในหัวข้อ “นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัย 40+” โดย ดร.นพ.อมรินทร์ นาควิเชียร รองคณบดีฝ่ายบริหาร และอาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคุณนพรัตน์ สุขสราญฤดี ประธานกรรมการ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด

โดยมี รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกส์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พญ.ณัฐชา อินทร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุกรรมการแผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. และคุณอิทธิพล ศรีอิทยาจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ให้เกียรติร่วมงาน ณ ห้องปฐมบริบท อาคารประสานมิตร 3 อาคารหอจดหมายเหตุ หอเกียรติยศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567

ดร.นพ.อมรินทร์ นาควิเชียร รองคณบดีฝ่ายบริหาร และ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “เนื่องด้วยปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยน แปลงของระบบโครงสร้างของประชากร และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทําให้ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของสตรีวัยหมดระดูมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสําคัญ โดยจากข้อมูลของสำนักทะเบียน กรมการปกครอง ในปี 2563 พบว่า มีประชากรผู้หญิงอายุ 45 ปี ขึ้นไปสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งอายุเฉลี่ยของการหมดระดูตามธรรมชาติในสตรีไทยคืออายุ 51 ปี ซึ่งบางรายก็อาจจะหมดระดูก่อน โดยภาวะหมดระดู (Menopause) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติในสตรีทุกคน โดยการหมดระดูส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งกระทบต่อสัมพันธภาพในครอบครัวได้ด้วย ทั้งนี้มีทั้งภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นผลจากการหมดระดูในระยะสั้น ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ แต่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยตระหนักมาก่อนคือสตรีวัยหมดระดูทุกรายจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ได้แก่ อาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ, กระดูกพรุน, ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตได้”

“ปัจจุบันการรักษาหลักของกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะในสตรีวัยหมดระดูคือการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่สอดทางช่องคลอด ซึ่งมีข้อจํากัดในเรื่องของระยะเวลา และข้อมูลในอดีตที่ก่อให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน การรักษาแบบประคับประคองก็ยังไม่ให้ผลดีนักและต้องอาศัยการรักษารูปแบบเฉพาะที่ ต่อเนื่องยาวนาน ทําให้เกิดความไม่สะดวก แพทย์และผู้ป่วยจึงได้มองหาแนวทางใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการป้องกันโรค การปรับสมดุลภาวะแวดล้อมจุลชีพในช่องคลอดด้วยโพรไบโอติกส์ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท วิโนน่า เฟมินีน จํากัด และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ผสมสารสกัดจากพืชที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะจากถั่วเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์เอสโตรเจนอ่อนๆ (Phytoestrogen) ชนิดรับประทาน สําหรับสตรีวัยหลังหมดระดู โดยได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)”

คุณนพรัตน์ สุขสราญฤดี ประธานกรรมการบริษัทวิโนน่า เฟมินิน จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘วิโนน่า’ ผู้บุกเบิกโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยเป็นเจ้าแรก และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ชนะเลิศแห่งชาติ เป็นผู้นำนวัตกรรมงานวิจัยไทยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ประสบความสำเร็จจนได้รับยกย่องว่าเป็น ‘WINONA MODEL’ กล่าวว่า “วิโนน่า ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชั้นนำของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยของสตรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มามากกว่า 8 ปี

ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายสตรีวัยหมดระดูอย่างเชิงลึก ซึ่งพบ pain-point และปัญหาว่ามีกลุ่มผู้หญิงวัยทองจำนวนกว่า 16 ล้านคนโดยประมาณ ที่ประสบปัญหาสุขภาวะดังกล่าวและไม่กล้าที่จะไปปรึกษาแพทย์ หรือไม่มีความเข้าใจในภาวะอาการดังกล่าว จึงไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่ค่อยคุกคามคุณภาพชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของ วิโนน่า ที่สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในวัยทองให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราจึงเดินหน้าทำงานร่วมกับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาอย่างต่อเนื่อง และนับอีกอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวิโนน่า ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวโครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพของไทย โดยมุ่งหวังที่จะนำนวัตกรรมที่มีแหล่งที่มาจากการใช้ชีวภาพในเมืองไทย และใช้ฮอร์โมนจากธรรมชาติ เพื่อลดการพึ่งพายาเคมีและผลค้างเคียง รวมถึงลดการนำเข้าโพรไบโอติกส์จากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งนับเป็นความตั้งใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

สำหรับรายละเอียดของโครงการวิจัยนี้จะนําผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยจํานวน 2 สายพันธุ์ ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกส์ ร่วมกับสารสกัดจากพืช ซึ่งทดสอบในห้องปฏิบัติการ มาผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสําหรับสตรีวัยหมดระดู และวัดประสิทธิภาพโดยงานวิจัยทางคลินิกศึกษาในอาสาสมัครสตรีวัยหมดระดูอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นไป จํานวน 120 ราย รับประทานผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ร่วมกับสารสกัดจากพืช และผลิตภัณฑ์ทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งตั้งเป้าการทดสอบประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยและสารสกัดจากพืช ช่วยส่งเสริมภาวะแวดล้อมที่ดีทางจุลชีพและกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เป็นผลดีต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพองค์รวมของสตรีไทยวัยหมดระดู จะเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการดูแลสตรีวัยหมดระดู เป็นทางเลือกของการดูแลแบบประคับประคองให้กับกลุ่มสตรีที่มีความกังวลและไม่สะดวกในการใช้ฮอร์โมนเฉพาะที่ต่อไป

ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-1088-533

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You missed